โรงเรียนเบญจมราชูทิศ จังหวัดจันทบุรี (อังกฤษ: Benchamarachuthit Chanthaburi School) (อักษรย่อ: บ.จ., B.J.) เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 17 (จันทบุรีและตราด) มีนักเรียนประมาณ 3000 คน โดยชื่อโรงเรียนเป็นนามพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
การศึกษาของกระทรวงธรรมการ(กระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบัน)ในปี พ.ศ. 2454 – 2455 ได้แบ่งชั้นเรียนวิสามัญ ออกเป็น 9 ชั้น คือ ชั้นมูล 3 ชั้น ชั้นประถม 3 ชั้น และชั้นมัธยม 3 ชั้น ขณะนั้นจังหวัดจันทบุรีมีโรงเรียนวัดจันทนารามแห่งเดียวที่เปิดสอนชั้นสูงสุดคือ ประโยคประถม (ป.3) ผู้ที่จบประโยคประถมแล้วถ้าต้องการศึกษาต่อชั้นมัธยม ต้องไปศึกษา ที่ กรุงเทพฯ
ต้นปี พ.ศ. 2454 ขุนวิภาชวิทยาสิทธิ์ (สังข์ พุกกะเวส) ธรรมการมณฑลจันทบุรี (ภายหลังได้เลื่อนเป็น พระวิภาชวิทยาสิทธิ์) และครูพูล (ขาว) ผู้ช่วยข้าหลวงธรรมการมณฑลจันทบุรี (ภายหลังได้บรรดาศักดิ์เป็นขุนชำนิอนุสรณ์ ตำแหน่งธรรมการจังหวัดจันทบุรี) ได้ร่วมกันพิจารณาหาที่ตั้งโรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลจันทบุรี (มณฑลจันทบุรี ประกอบด้วย จังหวัดจันทบุรี ระยอง และตราด) เมื่อพิจารณาแล้ว เห็นว่า วัดจันทนารามตั้งอยู่ริมแม่น้ำ มีปัญหาเรื่องน้ำท่วม การเดินทางต้องลงเรือ ส่วนวัดกลาง อยู่บนเนินสูง น้ำไม่ท่วม นักเรียนสัญจรไปมาสะดวก ทั้งมีบริเวณกว้างขวาง และในขณะนั้นวัดกลางเป็นวัดร้าง มีพระภิกษุรูปเดียว มีศาลาการเปรียญ 1 หลัง กุฏิ 3 หลัง ซึ่งพระภิกษุอาศัยอยู่ 1 หลัง กุฏิอีก 2 หลัง สามารถใช้เป็นอาคารเรียนชั่วคราวได้ เหมาะสมที่จะจัดตั้งเป็นโรงเรียนประจำมณฑลต่อไป
กลางปี พ.ศ. 2454 ทางราชการได้ส่งครูมาให้ 2 คน คือ ครูพูล (ดำ) และครูกัลป์ ธรรมการมณฑลจึงสั่งโอนนักเรียนประถม 15 คน จากวัดจันทนาราม มาเรียนที่ศาลาการเปรียญวัดกลาง เมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2454 และประกาศรับนักเรียนชาย หญิง เข้าเรียนชั้นมูล 1 ที่ศาลาการเปรียญด้วย ต้นปี พ.ศ. 2455 ได้เลื่อนนักเรียนที่สอบไล่ได้ประโยคประถมเป็นนักเรียนฝึกหัดมณฑลจันทบุรี โดยเรียนที่กุฏิร้าง 1 หลัง และให้นักเรียนที่สอบได้ประถมปีที่ 2 ของวัดจันทนาราม มาเรียนประโยคประถมที่วัดกลางโดยเรียนที่กุฏิร้างอีก 1 หลัง พระราชทานนาม “เบญจมราชูทิศ”
ปี พ.ศ. 2455 ข้าราชการในมณฑลจันทบุรี ได้พร้อมใจกัน บริจาคเงินสร้างอาคารเรียนหลังแรกเพื่ออุทิศพระราชกุศลถวายแด่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยอาคารหลังนี้ สร้างเป็นเรือนปั้นหยาชั้นเดียว 6 ห้องเรียน ยาว 12 วา 2 ศอก กว้าง 6 วา มีมุขและระเบียง 3 ด้าน ตัวไม้ใช้ไม้ตะเคียนล้วน ส่วนพื้นและเครื่องบนใช้ไม้ยางบ้าง ตัวอาคารทาสีฟ้าและมีรางน้ำรอบ การทำได้ทำอย่างประณีตงดงามแน่นหนาถาวรทุกประการ (ที่ตั้งอยู่บริเวณอาคาร9ในปัจจุบัน ทางเข้าออก อยู่ด้านถนนเบญจมราชูทิศ) เมื่อสร้างเสร็จเป็นโรงเรียนสมบูรณ์แล้วจึงขอพระราชทานนามโรงเรียน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานว่า “เบญจมราชูทิศ” และเนื่องจากในปีนี้กระทรวงธรรมการได้เปลี่ยนหลักสูตรการศึกษา เป็นชั้นประถม 3 ชั้น และมัธยม 8 ชั้น ชั้นมูลไม่มี ดังนั้นที่โรงเรียนวัดจันทนารามคงให้สอนเพียง ชั้น ป.1 – ป.3 ผู้ที่ประสงค์จะเรียนชั้นมัธยมต้องมาเรียนที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศ ซึ่งเป็นโรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑล (ชาย)
ครั้นวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2456 วันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (สวรรคตวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2453 เวลา 24.45 น. หรืออาจนับเป็นวันที่ 23 ตุลาคม เวลา 0.45 น.) จึงได้จัดการทำพิธีเปิดโรงเรียนโดย ขุนวิภาชวิทยาสิทธ์ ธรรมการมณฑลจันทบุรี อ่านรายงานการก่อสร้างสมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลจันทบุรี พระยาตรังคภูมาภิบาล (ถนอม บุณยเกตุ) ประธานในพิธีกล่าวคำประกาศเปิดนาม และประกอบพิธีเปิดนามโรงเรียน เมื่อจัดงานฉลองและบำเพ็ญกุศลแล้วจึงเริ่มการสอนแก่นักเรียนในนามโรงเรียน “เบญจมราชูทิศ” ตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม 2456 เป็นต้นมา โดยได้ใช้ชื่อโรงเรียนทางราชการตามลำดับจากอดีตถึงปัจจุบันดังนี้
โรงเรียนเบญจมราชูทิศ จังหวัดจันทบุรี มีพื้นที่ 22 ไร่ 2 งาน ตั้งอยู่เลขที่ 10 ถนนศรียานุสรณ์ อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจันทบุรีเขต 1 กระทรวงศึกษาธิการ เปิดสอนสองระดับคือ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.1-ม.3) รับเฉพาะนักเรียนชายจำนวน 24 ห้องเรียน(ชายล้วน) และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.4-ม.6) รับทั้งนักเรียนชายและหญิง จำนวน 36 ห้องเรียน การจัดการเรียนการสอนแบ่งโครงสร้างการเรียนออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ และกลุ่มวิชาทั่วไป โดยมีนโยบายในการพัฒนาการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับสภาพของท้องถิ่น ซึ่งเป็นเมืองเกษตรกรรม ในเขตพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก ได้ปรับปรุงอาคารสถานที่ให้เพียงพอเหมาะสมกับสภาพของโรงเรียน จัดบรรยากาศห้องเรียน และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนอาคารเรียนให้สะอาดร่มรื่น สวยงาม เพื่อเป็นแหล่งแห่งการเรียนรู้ได้ทุกเวลาสถานที่ ทั้งนี้เพื่อปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม ความสามารถทางวิชาการ ความรัก ความผูกพัน ศรัทธา เพื่อให้ทุกคนรู้สึกว่าโรงเรียนคือ บ้านที่สอง ของนักเรียนทุกคน ในปี พ.ศ. 2553 โรงเรียนเบญจมราชูทิศระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวนห้อง 11 ห้องเรียนรับนักเรียนหญิงจำนวน 2 ห้องเรียน
อาคารเรียน ประกอบด้วย อาคารจำนวน 5 หลัง ได้แก่ อาคาร 1 , อาคาร 2 , อาคาร 3 อาคาร 9และอาคาร 11 ซึ่งใช้เป็นห้องเรียนวิชาต่างๆ และจัดเป็นห้องศูนย์พัฒนาวิชาการ ศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศูนย์พัฒนาการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ ห้องสมุดกาญจนาภิเษก ห้องคอมพิวเตอร์ ห้องปฏิบัติการทางภาษา ห้องจริยธรรม ห้องภาษาไทย ห้องโสตทัศนศึกษา ห้องแนะแนว ห้องพักครู ฯลฯ
อาคารประกอบ โรงฝึกงาน มีจำนวนทั้งสิ้น 5 หลัง คือ โรงฝึกงานช่างยนต์, ช่างโลหะ, ศิลปศึกษา ห้องนาฏศิลป์?,อาคารชั่วคราวและดุริยางค์สากล อาคารต่างๆ ประกอบด้วยอาคารหอประชุม เรือนประชาสัมพันธ์ หอประชุมเล็ก เรือนพยาบาล ห้องพักครู บ้านพักภารโรง และห้องน้ำห้องส้วม
บริเวณโรงเรียน บริเวณต่างๆภายในโรงเรียนได้จัดสภาพให้สวยงาม สะอาดร่มรื่น เริ่มตั้งแต่รั้วโรงเรียน ประตูโรงเรียน ศาลาไทย ศาลพระภูมิ หอพระพุทธรูป สวนห้าตอ สนามโรงเรียน สวนหย่อม ลานพระบรมรูปและสวนพันธุ์ไม้ไทยในวรรณคดี
ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนเบญจมราชูทิศ จังหวัดจันทบุรี ได้จัดการเรียนการสอน แบ่งออกเป็นดังนี้
ชื่อคณะสีของโรงเรียนเบญจมราชูทิศ จันทบุรีนั้น เป็นชื่อของผู้มีคุณานัปการต่อโรงเรียน เช่น ผู้จัดหาที่ตั้งของโรงเรียน คุณครูใหญ่ เป็นต้น
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/โรงเรียนเบญจมราชูทิศ_จังหวัดจันทบุรี